ชื่อเรื่อง การพัฒนาศักยภาพครูด้านการทำวิจัยในชั้นเรียนโรงเรียนโนนหันวิทยายน
อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
ผู้วิจัย นายเจริญชัย ล่ามสมบัติ
ปีที่พิมพ์ 2556
บทคัดย่อ
การพัฒนาครูด้านการทำวิจัย ในชั้นเรียน ในโรงเรียนโนนหันวิทยายน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เพื่อพัฒนาศักยภาพครูในโรงเรียนโนนหันวิทยายน ให้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถเขียนเค้าโครงและเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียน กลุ่มเป้าหมาย เป็นคณะครูโรงเรียนโนนหันวิทยายน ซึ่งเป็นผู้ร่วมวิจัย จำนวน 36 คน และผู้ให้ข้อมูลที่เป็นวิทยากร จำนวน 1 คน การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ โดยผู้วิจัยได้นำเอาหลักการและขั้นตอนตามแนวความคิดของ Kemmis และ McTaggart ประกอบด้วย ขั้นการวางแผน ( Planning ) ขั้นการปฏิบัติการ ( Action ) ขั้นการสังเกต ( Observation ) ขั้นการสะท้อนผล ( Reflection ) โดยดำเนินการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การศึกษาดูงาน และการนิเทศ การสอน การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์และแบบสังเกตนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงคุณภาพผลการพัฒนาเป็นดังนี้
การดำเนินการในวงรอบที่ 1 ผู้วิจัยได้ใช้กลยุทธ์การปฏิบัติการและการนิเทศในการพัฒนาครูด้านการวิจัยในชั้นเรียน ผลปรากฏว่า กลุ่มเป้าหมายสามารถบรรลุกรอบการพัฒนาที่กลุ่มได้วางไว้ร่วมกัน คือ มีความรู้ความเข้าใจและสามารถดำเนินการวิจัยในชั้นเรียนทั้ง 5 ขั้นตอนได้ จำนวน 28 ส่วนอีก 8 คน มีความรู้ความรู้ความเข้าใจในด้านกระบวนการวิจัยในชั้นเรียน แต่ไม่สามารถดำเนินการวิจัยในชั้นเรียนได้ เนื่องจากมีปัญหาในขั้นตอนการสร้างและพัฒนานวัตกรรมและเครื่องมือวัดและการเขียนรายงานการวิจัยจะต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปรับปรุงต่อไป กลุ่มครู จึงได้เลือกใช้การประชุมเชิงปฏิบัติการโดยมีวิทยากรให้ความรู้และฝึกปฏิบัติ และใช้การนิเทศภายในโดยผู้เชี่ยวชาญ ผู้วิจัยและกลุ่มครูด้วยกันเอง
การดำเนินการในวงรอบที่ 2 กลุ่มผู้วิจัยทั้ง 36 คน เลือกการประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยวิทยากร มาให้ความรู้และฝึกปฏิบัติ และการนิเทศภายใน โดยให้ผู้เชี่ยวชาญ ผู้วิจัย และกลุ่มครูด้วยกันเอง ในลักษณะการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อรับทราบปัญหาและอุปสรรค การประชุมร่วมกันเพื่อหาวิธีการและแนวทางแก้ไขปัญหา การพบปะพูดคุยและให้คำแนะนำปรึกษาและการสะท้อนผลการปฏิบัติงานของกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง จากการดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศภายในดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายทั้ง 36 คน มีความรู้ความเข้าใจและมีความสามารถในการทำวิจัยในชั้นเรียนได้สามารถสร้างและพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลและเขียนรายการวิจัยได้
จากการดำเนินการพัฒนาครูด้านการวิจัยในชั้นเรียน โรงเรียนโนนหันวิทยายน โดยใช้กลยุทธ์ในการพัฒนา 2 กลยุทธ์ คือ การประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศภายใน โดยดำเนินการพัฒนา 2 วงรอบ ทำให้ครูทั้ง 36 คน บรรลุกรอบการพัฒนา คือ มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการวิจัยในชั้นเรียน สามารถดำเนินการวิจัยในชั้นเรียนได้ส่งผลต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนโนนหันวิทยายน